4 ประเพณีไทยดังก่อโลก

ประเพณีไทย

หากว่ากันด้วยเรื่องของประเพณีของไทยที่ต่างชาติเห็นแล้วต้องร้อง อ๋อ!!! แล้วคิดถึงไทยแน่นอนนั้น… มีมากมายหลายอย่างเลยก็ว่าได้ครับ วันนี้เราเลยอยากจะพาทุกๆ ท่านไปสำรวจเกี่ยวกับ “4 ประเพณีไทยดังก่อโลก” ที่หลายๆ ท่านก็คงน่าจะคิดแบบเดียวกัน พร้อมกับไปดูข้อมูลคร่าวๆ ว่าเค้าทำอะไรกันครับ จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น…เราไปชมกันดีกว่าครับผม

4 ประเพณีไทยที่ต่างชาติต่างกล่าวถึง

ประเพณีสงกรานต์

ช่วงประเพณีวันสงกรานต์ จะเป็นวันที่ได้รับอิทธิพลมาจากเทศกาลโฮลีของประเทศอินเดีย แต่วันสงกรานต์ของไทยเปลี่ยนจากการสาดสี เป็นการสาดน้ำใส่กัน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงเดือนเมษายน และในอีกแง่หนึ่งยังมีความเชื่อว่าเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป ทำให้นิยมเล่นสาดน้ำ และประแป้งกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยจะไม่ถือโทษโกรธกัน คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต ที่มีความหมายว่า “การเคลื่อนย้าย” โดยเชื่อว่าในวันสงกรานต์ เป็นช่วงเวลาการเคลื่อนย้ายของจักรราศี อีกนัยหนึ่งก็คือการเคลื่อนสู่ปีใหม่ ทำให้คนไทยยึดถือวันสงกรานต์เป็น “วันขึ้นปีใหม่ไทย” มาตั้งแต่สมัยโบราณ จนกระทั่ง พ.ศ. 2483 ก่อนจะปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามแบบแผนสากลนิยม ซึ่งก็คือวันที่ 1 มกราคมของทุกปี โดยที่ทำให้ต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาไทยในช่วงนี้เพื่อที่จะมาเล่นน้ำสงกรานต์พร้อมกับร่วมงานกิจกรรมและคอนเสิร์ตใหญ่ๆ มากมายที่เข้ามาจัดนั้นเองครับ

ประเพณียี่เป็ง

ประเพณีเดือนยี่ หรือ ยี่เป็ง คือ ประเพณีลอยกระทงแบบล้านนาโดยคำว่า ยี่ แปลว่า สอง ส่วน เป็ง แปลว่า เพ็ญ หรือ คืนพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งหมายถึงประเพณีในวันเพ็ญเดือนสองของชาวล้านนา ซึ่งตรงกับเดือนสิบสองของไทย

งานประเพณีจะมีสามวัน

  • วันขึ้นสิบสามค่ำ หรือ วันดา เป็นวันซื้อของเตรียมไปทำบุญที่วัด
  • วันขึ้นสิบสี่ค่ำ จะไปทำบุญกันที่วัด พร้อมทำกระทงใหญ่ไว้ที่วัดและนำของกินมาใส่กระทงเพื่อทำทานให้แก่คนยากจน
  • วันขึ้นสิบห้าค่ำ จะนำกระทงใหญ่ที่วัดและกระทงเล็กส่วนตัวไปลอยในลำน้ำ เพื่อบูชารอยพระพุทธบาท

ในช่วงวันยี่เป็งจะมีการประดับตกแต่งวัด บ้านเรือน ทำประตูป่า ด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้ ตุง ช่อประทีป และชักโคมยี่เป็งแบบต่าง ๆ โดยจำลองเหตุการณ์ที่ชาวเมืองจัดบ้านเมืองเพื่อต้อนรับการเสด็จกลับจากป่าของพระเวสสันดร และมีการจุดถ้วยประทีป(การจุดผางปะตี๊บ) เพื่อบูชาพระรัตนตรัย และมีการจุดว่าวไฟปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นเองครับ ชาวต่างชาติที่มาเที่ยวไทยช่วงนี้ก็จะได้รวมกิจกรรมงานบุญนี้กัน พร้อมกับปล่อยโคมถ่ายรูปสวยๆ กันครับ

ประเพณีลอยกระทง

ประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีโบราณของอินเดียที่ประเทศไทยรับเข้ามาปฏิบัติ ตำนานกล่าวไว้ว่าในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง มีนางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยนำดอกโคทม ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสองมาใช้ใส่เทียนประทีป เพื่อบูชารอยพระพุทธบาท แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงจากการทำจากดอกบัวเป็นต้นกล้วยเพราะดอกบัวดังกล่าวหายากและมีน้อยจึงใช้ต้นกล้วยทำแทนแล้วดูไม่สวยจึงใช้ใบตองมาพับแต่งจนสวยในที่สุดจนสืบทอดมาจนปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมประกวดนางนพมาศ ให้ได้ร่วมกันส่งแรงเชียร์กันอีกด้วยครับ

เทศกาลกินเจ

เทศกาลกินเจจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการละเว้นการกินเนื้อสัตว์ และยังดำรงตนอยู่ในศีลธรรม มีความบริสุทธิ์ สะอาด ทั้งกาย วาจา และใจ นอกจากนี้ในบางจังหวัดยังมีการจัดเทศกาลกินเจอย่างยิ่งใหญ่ซึ่งประกอบด้วยการละเล่นและพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น ประเพณีถือศีลกินผักที่จังหวัดภูเก็ต ที่มีทั้งพิธีลุยไฟและการปีนบันไดมีด หรือจะเป็นประเพณีถือศีลกินผักในจังหวัดตรัง ที่มีการประกวดเด็กน้อยสมบูรณ์เรียกรอยยิ้มให้กับนักท่องเที่ยวด้วย

เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับข้อมูลเกี่ยวกับ “4 ประเพณีไทยดังก่อโลก” ที่ทำให้ไทยเป็นที่รู้จักและต่างหลั่งใหลเข้าร่วมกิจกรรมกัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกๆ ท่านกันนะครับ

About the Author

You may also like these